
เชียงใหม่ – จังหวัดเชียงใหม่เรียกประชุมด่วนชี้แจงกรณีจุดความร้อนในพื้นที่อำเภอดอยเต่า ยืนยันเจ้าหน้าที่ปฏิบัติภารกิจดับไฟต่อเนื่องจนสถานการณ์คลี่คลาย พร้อมเผยสาเหตุบางจุดอาจไม่ถูกตรวจจับโดยดาวเทียม
วันนี้ (10 ก.พ. 68) ที่ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 จังหวัดเชียงใหม่ นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้ นายศิวกร บัวป้อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามสถานการณ์หมอกควันและจุดความร้อนในพื้นที่

GISTDA แจงระบบตรวจจับจุดความร้อน
ดร.สุรัสวดี ภูมิพานิช ผู้แทนจาก GISTDA (สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ) เปิดเผยว่า ข้อมูลจุดความร้อนที่ใช้ในปัจจุบันมาจากดาวเทียม MODIS, Suomi NPP, NOAA-20 และ NOAA-21 ซึ่งสามารถตรวจจับจุดความร้อนได้เร็วสุดภายใน 30-40 นาที และรายงานผลแบบ Near Realtime ทั้งแบบรายครั้ง (10 ครั้งต่อวัน) และรายวันสำหรับเก็บสถิติ
อย่างไรก็ตาม การตรวจจับจะขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอุณหภูมิพื้นผิว หากไฟดับไปก่อนดาวเทียมผ่าน ก็อาจไม่ถูกบันทึกเป็นจุดความร้อนได้
นายอำเภอดอยเต่าเผย เจ้าหน้าที่ทำงานต่อเนื่อง ไม่ได้นิ่งนอนใจ
นายเพิ่มศักดิ์ ศรีสวัสดิ์ นายอำเภอดอยเต่า ชี้แจงว่า เหตุการณ์จุดความร้อนที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 68 ไม่ได้เกิดจากการละเลยของเจ้าหน้าที่ ขณะเกิดเหตุได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมและดับไฟอย่างต่อเนื่องจนสถานการณ์คลี่คลาย เหลือเพียงกลุ่มควันลอยขึ้นในอากาศเท่านั้น
เจ้าหน้าที่ได้วางแผนลาดตระเวนเชิงรุกในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศของดอยเต่าเป็นหุบเขาสูงชัน ต้องเดินเท้าไกลกว่า 2-3 กิโลเมตรเพื่อเข้าถึงจุดไฟป่า ทำให้การปฏิบัติงานล่าช้าในบางกรณี นอกจากนี้ บางพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ จึงต้องใช้การลาดตระเวนภาคพื้นดินควบคู่กับข้อมูลดาวเทียม
เดินหน้าคุมเข้มไฟป่า เชียงใหม่เร่งแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ครอบคลุมทุกมิติ
นายสมนึก ท้าวพา ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและรักษาป่าและควบคุมไฟป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ไม่ได้รอข้อมูลจากระบบดาวเทียมเพียงอย่างเดียว แต่ใช้การลาดตระเวนภาคพื้นดินทั้งทางเท้า รถยนต์ และมอเตอร์ไซค์ ควบคู่กับการรับแจ้งจากประชาชนเพื่อลดระยะเวลาเข้าถึงจุดไฟให้เร็วที่สุด
ด้าน นายศิวกร บัวป้อง รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์อำนวยการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าฯ ไม่เพียงเน้นการควบคุมไฟป่าเท่านั้น แต่ยังมุ่งแก้ไขปัญหาฝุ่นควันในทุกมิติ เช่น การตรวจจับควันดำจากยานพาหนะ ควบคุมมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม และการกวาดล้างถนนเพื่อลดฝุ่นละอองให้ครอบคลุมทุกด้าน พร้อมกำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการอย่างเข้มข้นต่อเนื่อง
เหนืออัปเดท รายงาน